กองกิจการนิสิต ร่วมสืบสานประเพณีตานข้าวใหม่ ใส่บาตรหลวง ประจำปี 2568
วันที่ 12-13 มกราคม 2568 กองกิจการนิสิต นำโดย ดร.วุฒิชัย ไชยรินคำ รองอธิการบดีฝ่ายคุณภาพนิสิต ดร.จารุวรรณ โปษยานนท์ ผู้ช่วยอธิการบดี นายพิเชษฐ ถูกจิตร ผู้อำนวยการกองกิจการนิสิต บุคลากรและนิสิต ร่วมกิจกรรม ตานข้าวใหม่ใส่บาตรหลวงและพิธีกวนข้าวทิพย์ มหาวิทยาลัยพะเยา ประจำปี 2568
โดยในกิจกรรมวันที่ 12 มกราคม 2568 มีกิจกรรมการประกวดธิดาข้าวทิพย์ ด้วยการเสี่ยงทายพร้อมประกาศผล 5 คนสุดท้ายเพื่อเป็นตัวแทนในการกวนข้าวทิพย์ในครั้งนี้ หลังจากนั้น รองศาสตราจารย์ ดร.สุภกร พงศบางโพธิ์ อธิการบดี ได้ทำพิธีจุดธูปเทียน บูชาพระรัตนตรัย พระสงฆ์สวดเจริญพระพุทธมนต์ ในพิธีอธิการบดีมหาวิทยาลัยพะเยาพร้อมด้วยคณะผู้บริหารได้ทำการใส่เครื่องปรุงข้าวทิพย์ โดยมีธิดาข้าวทิพย์และรองธิดาข้าวทิพย์และรองทั้ง 4 คน เป็นผู้กวนข้าวทิพย์จนแล้วเสร็จ โครงการตานเข้าใหม่ใส่บาตรหลวงประจำปี 2568 ณ ลานอนุสาวรีย์พญางำเมือง อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา
และในวันที่ 13 มกราคม 2568 เวลา 08.00 น. อธิการบดีมหาวิทยาลัยพะเยา รองศาสตราจารย์ ดร.สุภกร พงศบางโพธิ์ นำคณะผู้บริหาร บุคลากร นิสิต ส่วนราชการในจังหวัดพะเยา และชุมชนจังหวัดพะเยา ร่วมสืบสานอนุรักษ์ประเพณีล้านนาดั้งเดิมที่ดีงามของจังหวัดพะเยา โดยการล่องเรือขบวนแห่ข้าวทิพย์บูชาพระเจ้าตนหลวง (หนึ่งเดียวในโลก) เพื่อนำข้าวทิพย์ถวายพระเจ้าตนหลวง ณ ท่าเรือวัดติโลกอาราม นำบาตรหลวง ( บาตรขนาดใหญ่ ) ใส่ข้าวใหม่ พร้อมด้วย ขบวนเรือสุ่มหมากสุ่มพลู ขบวนแห่เทพบุตร เทพธิดา และขบวนแห่เรือเครื่องถวายเครื่องสักการะเพื่อนำไปถวายแด่พระเจ้าตนหลวง ณ วัดศรีโคมคำ อ.เมือง จ.พะเยา โดยใช้เส้นทางทางน้ำจากวัดติโลกอาราม ไปตามร่องน้ำอิงเดิม - บ่อน้ำกลางกว๊านพะเยา - หน้าอนุสาวรีย์พญางำเมือง และขึ้นที่ท่าน้ำวัดศรีโคมคำหลังพระอุโบสถกลางน้ำ ก่อนที่จะบาตรหลวงพร้อมสุ่มหมากสุ่มพลูเครื่องบริวาลถวาย แด่พระเจ้าตนหลวงเพื่อมาสักการะ ณ วัดศรีโคมคำ อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา
ประเพณีตานข้าวใหม่ เป็นมรดกทางศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาของท้องถิ่น ภาคเหนือที่สืบทอดต่อกันมาอย่างยาวนาน หลังจากฤดูกาลเก็บเกี่ยวเกษตรกรจะนำข้าวที่เก็บเกี่ยวได้ ถวายแก่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คุ้มครองให้ผลผลิตงอกงามได้ผลบริบูรณ์ดี และอุทิศแก่บุพการีผู้มีพระคุณ โดยผ่านพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนา ในช่วงเดือน 4 ของภาคเหนือ ซึ่งนิยมจัดในวันขึ้น 15 ค่ำ เรียกว่าประเพณี "สี่เป็ง" ประเพณีตานข้าวใหม่ เป็นมรดกทางศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาที่สะท้อนถึงความผูกพันระหว่างเกษตรกร ธรรมชาติและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในวิถีชีวิตแบบดั้งเดิม เคยเลือนหายไปแต่มหาวิทยาลัยพะเยา ได้ทำการฟื้นฟูขึ้นใหม่ในปี 2550 เป็นต้นมาจนปัจจุบัน เพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านศิลปวัฒนธรรมในประเพณีตานข้าวใหม่ และ ระดับสืบสานต่อยอดกิจกรรมทางวัฒนธรรมในประเพณีตานข้าวใหม่ให้อยู่คู่คนพะเยาตลอดไป